วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

โรคตาแดง (Conjunctivitis)

 โรคตาแดง (Conjunctivitis) เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตาจากการติดเชื้อไวรัส เป็นกลุ่มอาดิโนไวรัส (Adenovirus) ที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้มากกว่า 50 กลุ่ม และประมาณ 1 ใน 3 สามารถทำให้เกิด โรคตาแดง ได้ ทั้งนี้การติดเชื้อไวรัสตาแดงมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ 
           1.ชนิดคออักเสบร่วมด้วย
 
           2.ชนิดตาอักเสบไม่มาก
 
           3.ชนิดตาอักเสบรุนแรง ซึ่งชนิดสุดท้ายเป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากกว่าทุกชนิด 

          อาการติดเชื้อไวรัสตาแดงชนิดมีเลือดออก (Acute hemorrhagic Conjunctivitis) นี้ ระยะเวลาของโรคตาแดงนี้จะนาน 10-14 วัน




กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โรคตาแดง

           โรคตาแดง สามารถพบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน ผุ้ใหญ่ ตลอดจนผู้สูงอายุ และมักเกิดในโรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน สถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และ โรคตาแดง มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน และระยะเวลาของโรคจะเป็นประมาณ 5-14 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนอย่างอื่น


การติดต่อ โรคตาแดง

โรคตาแดง สามารถติดต่อได้ง่าย ๆ โดย


           1.การคลุกคลีใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ป่วยโรคตาแดง ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการติดต่อ โรคตาแดง จากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยที่ติดมากับนิ้วมือ และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง

           2.ใช้เสื้อผ้า หรือสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
         
           3.ฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา

           4.แมงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

           5.ไม่รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะมือและใบหน้า

          ทั้งนี้ โรคตาแดง จะไม่ติดต่อทางการสบสายตา ทางอากาศ หรือรับประทานอาหารร่วมกัน และอาการต่าง ๆ จะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน และระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน


อาการของ โรคตาแดง          ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดง เคืองตา ตาขาวจะมีสีแดงเรื่อ ๆ เพราะมีเลือดออกที่เยื่อบุตาขาว น้ำตาไหลเจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย โดยอาจเป็นเมือกใสหรือสีเหลืองอ่อน จากการติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ต่อมน้ำเหลืองหลังหูมักเจ็บและบวม มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วจะติดต่อมายังตาอีกข้างได้ภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่ระวังให้ดี ถ้าระมัดระวังไม่ให้น้ำตามข้างทาง ที่ติดเชื้อไวรัสมาถูกตาข้างที่ดีจะไม่เป็นตาแดง แต่ส่วนใหญ่มักเป็นไปอีกข้างอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บางรายอาจมีตาดำอักเสบ ทำให้เคืองตามาก และมีแผลที่ตาดำชั่วคราวได้

การรักษา โรคตาแดง          จะรักษา โรคตาแดง ตามลักษณะอาการของโรค เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ถ้ามีขี้ตามากก็หยอดยาปฎิชีวนะ มีไข้ เจ็บคอ ก็ใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วยกับยาลดไข้ ยาลดปวด 

          ผู้ป่วย โรคตาแดง ต้องพยายามรักษาสุขภาพพักผ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการตาแดงอย่างรุนแรง ไม่ควรทำงานดึกควรนอนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นมีกระจกตาอักเสบ เคืองตามาก จึงปิดตาเป็นครั้งคราว และควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันแสง 
          ควรงดการใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ทุกครั้งที่จับตาควรล้างมือให้สะอาด ผู้ป่วยไม่ควรลงเล่นน้ำในสระ จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปในน้ำได้
          หากรักษาด้วยยาป้ายตา หรือยาหยอดตานานเกิน 7 วัน แล้วอาการยังไม่ทุเลา หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดตามาก ตามัว ขี้ตาเป็นหนอง ลืมตาไม่ขึ้น มีไข้สูง ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะหากทิ้งไว้นานถึงขั้นตาบอดได้ 


การป้องกัน โรคตาแดง
           1.หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ

           2.ไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

           3.ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที

           4.อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา

           5.หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ให้สะอาดอยู่เสมอ

           6.ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน เพื่อป้องกันการกระจายของโรค 

           7. หลีกเลี่ยงการใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา

          ทั้งนี้หากมีอาการตาแดง ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดอาการตาแดง ซึ่งนอกจากจะเกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว อาจเกิดจากสารเคมี หรือรังสี โดยเฉพาะรังสีอุลตราไวโอเลตได้ 




แหล่งที่มา : http://health.kapook.com/view4052.html

โรคมือเท้าปาก Hand Foot and Mouth Disease

 รู้จัก โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก หรือ Hand, Foot and Mouth Disease มักเรียกติดปากกันว่า โรคมือ เท้า ปาก เปื่อย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) โดยพบการระบาดของ โรคมือเท้าปาก เมื่อปี พ.ศ.2500 กับเด็กในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้และยังมีตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือ และเท้า

          ต่อมายังพบการระบาดกับกลุ่มเด็กในเมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อปี พ.ศ.2502 เช่นกัน จนได้มีการเรียกกลุ่มอาการที่พบนี้ว่า Hand-Foot-and Mouth Disease (HFMD) หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของ โรคมือเท้าปาก จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

          ทั้งนี้ โรคมือเท้าปาก จะมีการระบาดแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ หากเป็นประเทศเขตหนาวจะพบในช่วงฤดูร้อน และต้นฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศเขตร้อนชื้นจะพบได้ตลอดทั้งปี แต่ละระบาดมากในช่วงฤดูฝนที่มีอากาศร้อนชื้น และมักพบในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี 

การติดต่อ โรคมือเท้าปาก

          โรคมือเท้าปาก สามารถติดต่อกันได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย สามารถติดต่อได้โดย

           การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง ทั้งจากจมูก, ลำคอ และน้ำจากในตุ่มใส (Respiratory route) โดยเชื้อโรคอาจติดมากับสิ่งของเครื่องใบ้ต่าง ๆ หรือการไอจามรดกันก็ได้

           อุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ (fecal - oral route ) โดยช่วงที่แพร่กระจายมากที่สุด คือ ในสัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการ และจะยังแพร่เชื้อได้จนกว่ารอยโรคจะหายไป แต่ก็ยังพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยต่อได้อีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

          ทั้งนี้ เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3 วัน โรคนี้ไม่สามารถติดติอจากคนสู่สัตว์ หรือจากสัตว์สู่คนได้ 



อาการของ โรคมือเท้าปาก

          โดยทั่วไป โรคมือเท้าปาก มีอาการไม่รุนแรง โดยจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-6 วัน และมีอาการเริ่มต้นคือ เป็นไข้ต่ำ ๆ มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มเจ็บปาก ไม่ยอมทานอาหาร เพราะมีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม โดยตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น จากนั้นจะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น แขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ในเด็กทารกอาจพบกระจายทั่วตัวได้ ทั้งนี้อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน  7-10 วัน โดยทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น

          อย่างไรก็ตาม โรคมือเท้าปาก อาจแสดงอาการในหลายระบบ เช่น

          1.ระบบทางเดินหายใจ อาจมีอาการเหมือนไข้หวัด ไอ มีน้ำมูกใส เจ็บคอ

2.ทางผิวหนัง

          3.ทางระบบประสาท เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ

          4.ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำเล็กน้อย ปวดหัว อาเจียน

          5.ทางตา มักพบเยื่อบุตาอักเสบ (chemosis and conjuntivitis) และ

          6.ทางหัวใจ เช่น สามารถทำให้เกิดกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง 

การป้องกัน โรคมือเท้าปาก

          ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โรคมือเท้าปาก แต่โดยปกติป้องกัน โรคมือเท้าปาก ได้โดยการรักษาสุขอนามัยที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน

          ที่สำคัญ คือ ต้องแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคออกจากกลุ่มเพื่อนในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก โดยไม่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และต้องคอยทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

          หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว (1-2 สัปดาห์) และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค  โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน 

แหล่งที่มา : http://health.kapook.com/view11558.html